Thursday, 27 February 2014

พิรดา เตชะวิจิตร์ มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของไทย

 
 
 
 

พิรดา เตชะวิจิตร์ มนุษย์อวกาศหญิงคนแรกของไทย

Prev
1 of 1
Next

คลิกภาพเพื่อขยาย

updated: 24 ก.พ. 2557 เวลา 15:52:57 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ฮือ ฮาไปตามๆ กัน หลังจากการแข่งขันโครงการ "แอ็กซ์ อพอลโล สเปซ อคาเดมี (AXE Apollo Space Academy)" เพื่อคัดเลือกคนไทยคนแรกที่จะได้เดินทางไปอวกาศ

ผลการคัดเลือกปรากฏว่าเป็นหญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้ม ชนะผู้เข้าร่วมการแข่งขันจำนวนมากจากหลายช่องทางทั่วประเทศ

เชื่อ ว่าการได้ออกไปตะลุยอวกาศ เป็นความใฝ่ฝันของหลายคน แต่เมื่อโตขึ้น หลายๆ คนก็คิดจะทิ้งความฝันด้วยเหตุผลที่คำว่า "อวกาศ" นั้นฟังดูไกลเกินเอื้อม

แต่สำหรับเธอไม่เป็นอย่างนั้น

หาก รู้จัก "มิ้งค์-พิรดา เตชะวิจิตร์" วิศวกรดาวเทียม ประจำสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ผู้คว้าตั๋วไปอวกาศเที่ยวบินนี้ และจองตำแหน่งมนุษย์อวกาศคนแรกของไทย แล้วจะรู้ว่าโอกาสครั้งนี้ ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย

โครงการแอ็กซ์ อพอลโล สเปซ อคาเดมี จัดหาตัวแทนประเทศไทยจำนวน 3 คน ผ่าน 3 ช่องทาง

1.ผู้ ชนะการแข่งขันรายการแฟนพันธุ์แท้ตอน "แฟนอพอลโล" (แฟนพันธุ์แท้นักบินอวกาศ) 2.ผู้โชคดีจากการส่งรหัสผลิตภัณฑ์ร่วมชิงโชค 3.ผู้ที่มียอดวิวสูงสุดจากการทำคลิปวิดีโอประกวด หลังจากนั้นทั้ง 3 คน ต้องไปเข้าค่ายที่รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ร่วมกับผู้ที่ได้รับคัดเลือก 107 คน จาก 62 ประเทศ

จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการนับล้านคนทั่วโลก พิรดา ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย เป็น 1 ใน 23 คน ที่ได้ครอบครองตั๋วไปอวกาศในปีหน้ากับยาน LYNX MARK II (ลิงซ์ มาร์ค ทู) ด้วยความเร็ว 3,552 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สัมผัสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงนาน 6 นาที ที่ความสูงเหนือพื้นดิน 103 กิโลเมตร การเดินทางบนห้วงอวกาศนี้ใช้เวลารวมทั้งสิ้น 60 นาที

"วิศวกรสาววัย 30 ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการทันทีที่ทราบ ด้วยความสนใจด้านอวกาศ โดยเข้าร่วมทั้งสามช่องทาง แต่สุดท้ายเธอก็คว้ารางวัลแฟนพันธุ์แท้อพอลโลมาด้วยความสามารถ"

พิร ดา เป็นสาวลำปาง เกิดเมื่อ 7 สิงหาคม 2527 ในครอบครัวของคุณพ่อ "มาโนชญ์" และคุณแม่ "วัชรินทร์ เตชะวิจิตร์" ซึ่งทำธุรกิจโรงงานเซรามิก เลี้ยงดูลูกทั้ง 4 คน โดยเน้นสนับสนุนด้านการศึกษา จนลูกทุกคนมีการศึกษาและการงานที่ดี พี่สาวของพิรดาเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ ตัวเธอเป็นวิศวกรดาวเทียม น้องชาย จบทันตแพทย์ และน้องชายอีกหนึ่งคนกำลังเรียนเภสัชศาสตร์

หลังจบ ม.6 จากโรงเรียนลำปางกัลยาณี เธอเลือกเรียนต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ได้รับทุนไปฝึกงานที่บริษัท Intel ประเทศอินเดีย เป็นเวลาหนึ่งปี ก่อนจะกลับมาเรียนต่อจนจบ และคว้าทุนจากจิสด้า (GISTDA) ไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านวิศวกรรมดาวเทียม ที่สถาบัน ISAE ประเทศฝรั่งเศส แล้วกลับมาทำงานที่จิสด้าจนถึงปัจจุบัน

"จริงๆ เรียนไม่เก่ง เกรดต่ำมาก แต่ไม่สำคัญว่าอดีตเป็นอย่างไร อยู่ที่ว่าถ้าเรารู้ตัวเมื่อไหร่ ตรงนั้นจะเป็นจุดเปลี่ยน ก่อนจะเอ็นทรานซ์ เจอติวเตอร์คนหนึ่งเรียนคณะวิศวะมาก่อน นอกจากจะสอนด้านความรู้แล้ว ยังสอนด้านความคิด เป็นแรงบันดาลใจให้เราตัดสินใจไปเรียนวิศวะ เรารู้ว่าเป้าหมายชีวิตตอนนั้นต้องเรียนวิศวะ

"จากคนที่เรียน ฟิสิกส์ไม่รู้เรื่อง ได้แค่เกรด 2 ก็เปลี่ยนไป ตอนเอ็นท์ได้คะแนนเกือบเต็มร้อย อยู่ๆ ก็พลิกเลย อยู่ที่ว่าเรารู้ตัวว่าเราต้องทำอะไร" เธอกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

หลังจาก ทำงานด้านดาวเทียม ความชอบด้านเทคโนโลยีพัฒนาไปเป็นความคลั่งไคล้เรื่องอวกาศ จนเกิดความฝันอันแรงกล้าว่าสักวันจะต้องเป็นมนุษย์อวกาศให้ได้!




"นี่คือเรื่องราวหญิงสาวผู้วาดฝันไว้ไกลถึงห้วงอวกาศ และในวันนี้เธอพิชิตความฝันได้สำเร็จแล้ว"

การสมัครเข้าร่วมโครงการ

เข้า ร่วมทั้งสามช่องทาง เพราะกลัวว่าจะพลาด แต่จริงๆ หวังไว้ที่ช่องทางแฟนพันธุ์แท้อพอลโล เพราะเรารู้เกี่ยวกับด้านโครงการอวกาศอยู่แล้ว เคยมีประสบการณ์เจอนักบินหลายคนหลายครั้ง ชอบโครงการอวกาศ การส่งคนไปอวกาศ หรือนักบินอวกาศ

ก่อนจะเข้ารอบสุดท้ายแฟนพันธุ์แท้ มีเวลาเตรียมตัว 20 วัน เตรียมตัวเยอะ ชอบเทคโนโลยีอวกาศ การทำยานส่งขึ้นไปพ้นแรงโน้มถ่วง ถอดยานยังไง แต่ไม่ใช่ว่าจะจำหน้านักบินได้ หรือใครพูดอะไร ซึ่งไม่ค่อยเป็นวิทยาศาสตร์ รายการเป็นลักษณะเกมโชว์วาไรตี้ เขาจะไม่ถามอะไรที่ลึก ใช้สารเคมีอะไรคงไม่ถาม เขาถามรูปหน้านักบินให้เวลา 3 วินาที ซึ่งต้องกลับมาทำการบ้านเยอะมาก ต้องหาหน้านักบินมาลองเล่นกับตัวเอง ชื่อนักบินหลายคนก็จะยาก นักบินสหรัฐส่วนใหญ่จะหัวล้าน นักบินจีนส่วนใหญ่จะตาตี่ หน้าคล้ายกัน ก็สับสนบ้างต้องทำการบ้านเยอะ

พอได้เป็นแฟนพันธุ์แท้แล้วก็เหมือน ได้ตั๋ว 1 ใน 3 ที่จะไปฟลอริดา ก่อนไปแคมป์มีการเตรียมตัวกับทางกองทัพอากาศไปฝึกเหมือนที่นักบินต้องฝึก เช่น เข้าห้องปรับความดัน หรือเก้าอี้ดีดตัวที่ใช้ทดสอบกับนักบิน มีการเรียนรู้เกี่ยวกับสรีระทางด้านร่างกายที่มีผลกระทบเกี่ยวกับความสูง แรงดันอากาศของเครื่องบินที่นักบินต้องรู้ เราก็ต้องรู้เหมือนกัน

อบรมที่กองทัพอากาศเป็นอย่างไร?

สนุก มาก มีฝึกพิเศษกับเครื่องบิน PC-9 เป็นฝูงบินผาดแผลงที่กองทัพอากาศใช้แปรขบวนท่า ให้เราขึ้นแล้วนักบินก็บินตีลังกาเพื่อดูว่าเรากลัวความสูงหรือกลัวที่แคบ ไหม เพราะในเครื่องบินจะเป็นเคบินที่แคบ แล้วเราสามารถทนต่อแรงจีได้ไหม เพราะว่าตัวเราจะหนักขึ้นเวลาโดนเหวี่ยง มีแรงมาทำกับเรา เหวี่ยงไป 5 จี ก็คือ หนักขึ้น 5 เท่า ซึ่งเลือดจะไหลจากสมองตกไปที่เท้า หมดสติได้ง่าย เราจะต้องกลั้นไม่ให้เลือดไหลไปเยอะ จึงต้องมีการฝึก แต่เรื่องความสูงไม่กลัว ชอบความสูงอยู่แล้ว

จากนั้นไปเข้าค่ายที่ฟลอริดา?

ใช้ เวลาประมาณ 1 อาทิตย์ที่ฟลอริดา อยู่ใกล้ๆ กับฐานของนาซาเลย ในวันแรกที่มีการเปิดแคมป์ ทุกคนก็ใส่จัมพ์สูทที่เขาให้มา จะมีชื่อตัวเองและธงประเทศ เขาบอกว่า 107 คน ที่ได้ไปยืนตรงนั้นโชคดีมาก เพราะคัดจากคนที่สนใจทั่วโลกเป็นล้านคน และจะคัดเหลือ 23 คน ซึ่งแปลว่าประเทศไทยอาจจะไม่ได้เลยก็ได้ เขาบอกว่าให้แสดงออกให้เต็มที่ว่าอยากเป็นและพร้อมที่จะเป็นนักบินอวกาศ ให้พิสูจน์ว่าอยากได้จริงๆ โดยที่เขาจะเก็บคะแนนจากทุกกิจกรรมที่เราทำ โดยพิจารณาสามอย่าง คือ ความกระตือรือร้น ความกล้าหาญ และการทำงานเป็นทีม นี่คือคุณสมบัติที่สำคัญของการเป็นนักบินอวกาศ

เจอบททดสอบหนัก?

การ ทดสอบหนักๆ ที่เจอ มีการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย Assault Course เป็นคอร์สที่ฝึกทหารให้ปีนผาจำลองขึ้นไปกดปุ่ม พอสะลิงตัวลงมา กระโดดข้ามรั้ว ลอดใต้ตาข่าย เสร็จปุ๊บ กระโดดเชือก 50 ครั้ง วิดพื้น 40 ที ซิตอัพ 40 ที เสร็จแล้วให้ยิงปืน ซึ่งตอนนั้นเราจะมือสั่น กว่าจะยิงได้ทุกเป้าที่เขากำหนดก็กระอักเลือดเพราะมือสั่นมาก แล้วก็ไปรอดตรงนี้ตรงนั้น สุดท้ายโรยตัวลงมาจากข้างบน ทั้งหมดนี้ไม่ได้จับเวลา เขาบอกว่าให้ทำให้จบ ซึ่งจริงๆเหนื่อยตั้งแต่อันแรกแล้วอันนี้เป็นสิ่งที่ยากที่สุด เพราะกิจกรรมอื่นพอไหว เตรียมใจมาก่อน แต่อยู่ๆ มีคอร์สแบบนี้ปุ๊บ ...เอ๊ะ ทำไมโหดจังเลย ทำไมถึงเอาคอร์สที่ฝึกกับทหารจริงๆ มาฝึกกับเรา เกือบเป็นลมหลายครั้ง แต่ก็สู้ ยังไงก็ต้องทำให้จบ



ใน ค่ายมีผู้หญิงแค่ 4 คน คิดว่ามีแค่เรื่องความแข็งแกร่งทางร่างกายที่เราเสียเปรียบกว่าผู้ชาย แต่ว่าอย่างอื่นไม่มีการเสียเปรียบเลย เท่ากันหมด เช่น อดทนต่อแรงจีได้ไหม หรือว่ากลัวความสูงไหม จะมีเรื่องการทดสอบทางด้านสติปัญญา ซึ่งคิดว่าเราได้เปรียบ เพราะว่าเราเป็นวิศวะ ข้อสอบค่อนข้างง่าย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้เรียนมาตรงสายก็บอกว่าไม่ง่าย จริงๆ ผู้หญิงไม่ได้เสียเปรียบขนาดนั้น ถ้าเราใจสู้ซะอย่างเราทำได้หมด คะแนนส่วนใหญ่ดูพฤติกรรมโดยรวมมากกว่า

เจอหนักๆ ท้อบ้างไหม?

จริงๆ ก็ท้อ ครั้งแรกคือตอนฝึกกับกองทัพอากาศที่ไทย พอเครื่องบินตีลังกาเหวี่ยงปุ๊บ มีแรงจี เราไม่เคยรู้ว่าแรงจีเป็นยังไง ไม่เคยเจอมาก่อน คนปกติก็ไม่เคยเจอกันหรอก แต่ว่าพอไปโดนเหวี่ยงสัก 5 จี จะอ้วก หน้ามืด กลัวว่าการเป็นนักบินอวกาศไม่ง่ายนะ รู้สึกท้อ ไปฟลอริดาแล้วเขาจะคัดเลือกเราหรือเปล่า เราติดปัญหาด้านร่างก่ายหรือเปล่า แต่ในใจก็สู้ อยากได้

โทร.ไปคุยกับคุณแม่ บอกว่า "คุณแม่ มิ้งค์ตัวเล็ก เกร็งสู้แรงจีไม่ได้ แล้วกลัวว่าจะไปอวกาศไม่ได้เพราะหน้ามืด" คุณแม่ก็บอกว่า "อ้าว แล้วทำไมหมากับลิงที่เขาส่งไปอวกาศยังไปได้" (หัวเราะ) ...เออ คิดได้ไง น่ารักจังเลย เราไม่ควรจะยอมแพ้หมากับลิงนะ ก็โอเค ฮึดต่อ

แต่ กิจกรรมที่ท้อที่สุด คือทดสอบร่างกายที่ฟลอริดานี่แหละ เราคิดว่าจะเก็บคะแนนได้น้อย เหนื่อยมาก บางทีกระโดดเชือกอยู่แล้วต้องหยุดเพราะเลือดไปเลี้ยงไม่ทัน เราก็รู้สึกว่าเสียคะแนน เสียเปรียบผู้ชาย เพราะว่าตอนนั้นผู้ชายทำได้หมดเลยทุกคน แต่ถ้าผู้ชายที่ไม่ฟิตร่างกายจริงๆ ก็หน้ามืดเหมือนกัน

ทำงานเป็นวิศวกรดาวเทียมที่จิสด้า?

จิ สด้าเป็นเหมือนองค์การมหาชน สถานีอยู่ที่ศรีราชา เป็นผู้ควบคุมดูแลทางด้านอวกาศ ดูแลดาวเทียมไทยโชต หรือ THEOS ซึ่งดาวเทียมดวงนี้เป็นดวงแรกของประเทศไทย ใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติ หน้าที่ของเราเป็นวิศวกรที่คอยควบคุมดูแลดาวเทียม ในส่วนของการบำรุงรักษาภาคพื้นดิน เพราะว่าดาวเทียมจะติดต่อสื่อสารกลับมาทุกวัน เราก็เอาข้อมูลดาวเทียม ดูสถานะ เอามาศึกษาและวิจัยเพิ่มเติม หากดาวเทียมเกิดปัญหาตรงไหน ก็จะได้ดูแลป้องกัน ทำงานที่นี่มาประมาณ 5 ปีแล้ว

ความชอบเรื่องอวกาศเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร?

ก่อน หน้านี้จะชอบทุกอย่างที่เป็นเทคโนโลยี สิ่งที่มนุษย์สร้าง ก็เลยเรียนวิศวะ หลังจากที่ได้ทุนไปเรียนวิศวกรรมด้านอวกาศ ที่ฝรั่งเศส แล้วรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ ฟังแล้วน่าตื่นเต้นอยากเรียนรู้ ยิ่งกลับมาทำงานที่จิสด้า ได้เห็นเทคโนโลยี ก็จะชอบเป็นพิเศษและหลงรักมากขึ้นเรื่อยๆ อยากเป็นนักบินอวกาศ เป็นอะไรที่น่าสนใจเพราะว่าได้ไปอยู่จุดที่น้อยคนจะได้ไป พิเศษมากๆ ต้องมีการวิจัยที่ครอบคลุม ชอบในความคิดที่ท้าทายความเป็นมนุษย์ หลงรักเรื่องพวกนี้เป็นพิเศษ

ได้ทุนเรียนวิศวกรรมด้านดาวเทียมที่ฝรั่งเศส?

เรียน จบปริญญาตรีแล้วได้ทุนเลย เป็นทุนของจิสด้า ไปเรียนก่อนแล้วกลับมาทำงานให้จิสด้า ใช้เวลาเรียนประมาณปีกว่า หลักสูตรภาษาฝรั่งเศส ยากมาก ไม่เคยรู้ภาษาฝรั่งเศสมาก่อน เป็นวิศวะด้านระบบ คือ embedded system เป็นสมองกลอัจฉริยะ ตอนเรียนที่ฝรั่งเศสมีโอกาสไปดูดาวเทียมที่เป็นความร่วมมือไทย-ฝรั่งเศส ก่อนที่จะขึ้นสู่อวกาศ ก็จะได้พูดคุยในเรื่องของดาวเทียมเยอะกว่าด้านอื่น

พอ เริ่มไปเรียนแล้วก็รู้สึกว่านักบินอวกาศนี่เจ๋งเนอะ ดูไปเรื่อยๆ ยิ่งหลงรักมากขึ้น แต่ว่าจุดที่ตัดสินใจว่าจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็นนักบินอวกาศ คือตอนที่ไปประชุมวิชาการที่เคปทาวน์ ประเทศแอฟริกาใต้ ตอนนั้นเขาจัดเวที มีนักบินอวกาศสองคนขึ้นไปนั่ง แล้วก็เล่าให้ฟังว่า ภารกิจไปทำอะไรมาบ้าง ก็ตื่นเต้น แล้วก็มีคนหนึ่งโทรศัพท์ไปที่สถานีอวกาศนานาชาติ แล้วนักบินก็ตอบลงมาโดยที่เขาเอาไมค์มาจ่อว่า นี่นักบินกำลังพูดกับเราสดๆ เลย ณ ตอนนั้นจำได้ว่าฮอลล์เงียบ แล้วทุกคนจ้องไปที่เวที ทุกคนตั้งใจฟังเหมือนโดนสะกดไว้ ทั้งฮอลล์มีแต่คนที่ชอบด้านนี้อยู่แล้ว เราฟังแล้วรู้สึกว่าสุดยอด เป็นวินาทีที่ตัดสินใจว่า ถ้ามีโอกาสแค่สักครั้งในชีวิต จะทำทุกอย่าง พอโอกาสเข้ามาปุ๊บเราจึงไม่ปล่อยให้มันหลุดไป เพราะอาจเป็นโอกาสครั้งเดียวในชีวิตแล้วก็ได้

แค่จะบอกว่ามีฝันก็ดี แล้ว แต่ต้องตัดสินใจลงมือทำ อันนั้นสำคัญกว่า แค่มีฝันอย่างเดียวมันอาจไม่เป็นจริงก็ได้ การลงมือทำ จะทำให้ฝันนั้นเป็นจริง

เป็นคนชอบความท้าทาย?

เมื่อ ก่อนขี้กลัว ชอบประเมินตัวเองว่าไม่ค่อยสำคัญ ดูด้อยค่าในสายตาคนอื่น ทำอะไรก็ไม่ดี แต่ว่าเราโตมาแล้วเห็นศักยภาพว่าเราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น เลยค่อยๆ เปลี่ยน มีความมั่นใจมากขึ้น สมัยก่อนไม่กล้าพูดต่อหน้าสาธารณชน แต่เดียวนี้ไม่ค่อยกลัว น่าจะพัฒนาจากความคิดว่าเราอย่าไปดูถูกตัวเอง คนเราชอบตีค่าตัวเองว่าด้อยกว่าที่ควรจะเป็น เหมือนเราชอบคิดว่าเราทำไม่ได้หรอก

เคยมีคนบอกว่า ศักยภาพของเรามันซ่อนอยู่ข้างในลึกๆ ศักยภาพที่เราใช้เหมือนภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมาแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่ข้างใต้ที่เรายังไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ยังมีศักยภาพเยอะมาก ถ้าเกิดภาวะกดดันที่เราต้องทำ ต้องสู้ จะดึงความสามารถข้างในมาได้ แล้วเมื่อดึงมาได้แล้วเราจะเป็นคนที่มีศักยภาพมากขึ้นกว่าเดิม ขอแค่ใช้ศักยภาพให้เต็มที่

อย่าประเมินตัวเองจากแค่ที่เราเป็นอยู่ จริงๆ เรามีความสามารถมากกว่านั้น

ขึ้นไปในอวกาศ 60 นาที จะทำอะไรบ้าง?

ยาน อวกาศใช้เวลาขึ้นไป 60 นาที จากพื้นดิน เขาดับเครื่องค้างอยู่ตรงนั้นจะมีเวลาอยู่ในอวกาศแค่ประมาณ 6 นาที แล้วจะเหวี่ยงกลับลงมา คิดว่าอยากจะเอาอาหารไทยขึ้นไป เพราะยังไม่มีอาหารไทยในอวกาศ ต้องเอาสัญลักษณ์ของความเป็นไทย ธงชาติไทย รูปในหลวง เพื่อนๆ อยากฝากของขึ้นไปเต็มเลย จนคิดว่าเยอะไปหรือเปล่า ต้องคุยกับเขาว่ามีข้อจำกัดอะไรบ้าง เพราะวัสดุบางอย่างอาจจะติดไฟ แต่คิดว่าอย่างน้อย จะเอาอาหารขึ้นไป ส่วนธงชาติไทยหรือรูปในหลวง น่าจะได้ อาหารนี่มีคนเสนอว่าเป็นต้มยำกุ้งไหม ...ไม่ไหวนะ เป็นน้ำ จะให้แกะถุงกินก็ไม่ไหวมันเป็นน้ำ เดี๋ยวแตกกระจาย อาจเป็นอะไรแห้งๆ ก็น่าสนุกดี

จริงๆ แล้ว 6 นาที ทุกคนบอกว่ามันสั้น แต่ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ 6 นาทีนั้น เป็นอะไรหลังจากนั้นมากกว่า เป็นเครื่องยืนยันว่าฉันทำสำเร็จแล้ว เพราะคิดว่าถ้ามีโครงการที่ไปอวกาศในประเทศไทย ขอแค่มีโอกาสสักครั้งที่เกิดขึ้น จะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ไป เพราะว่าอยากไปมาก

ถ้าเรามีฝัน มีความพยายามและเราตั้งใจทำ บอกกับตัวเองว่าฉันจะทำโดยที่ไม่หนีออกระหว่างทางไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรามองไปที่เป้าหมาย ไม่ใช่มองที่อุปสรรค จะทำให้เราสามารถเดินไปถึงจุดหมายได้ เราอาจจะกลับมาสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้

"นี่เป็นตัวอย่าง ผู้หญิงตัวเล็กๆ ทำได้แล้ว ทำไมคนอื่นจะทำไม่ได้"


ที่มา นสพ.มติชนรายวัน
 


--
Posted By Sky Exits Films to SKY EXITS FILMS PRODUCTION HOUSE BANGKOK on 2/27/2014 09:22:00 am

No comments:

Post a Comment